เทศกาลออกพรรษา ศึกชิงนักท่องเที่ยว รัฐบาลชูไหลเรือไฟนครพนม เป็นมหกรรมไหลเรือไฟโลก หนองคายต้องไม่แผ่ว โพนพิสัย ยึดครองที่1 บั้งไฟพญานาคโลก

บทความ

เทศกาลออกพรรษา ศึกชิงนักท่องเที่ยว รัฐบาลชูไหลเรือไฟนครพนม เป็น "มหกรรมไหลเรือไฟโลก" หนองคายต้องไม่แผ่ว โพนพิสัยยึดครองที่1 "บั้งไฟพญานาคโลก"

     หากพูดถึงงานเทศกาลสำคัญของประเทศไทยในช่วงออกพรรษา ในภาคอีสานก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ เทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค(โลก) ที่เป็นปรากฏกาณ์ทางธรรมชาติ เป็นความเชื่อและความศรัทธาของประชาขนที่มิอาจห้ามได้  เป็นลักษณะลูกไฟสีแดงผุดขึ้นมาจากกลางลำน้ำโขง ที่บูชาองค์พญานาคตามความเชื่อและศรัทธา ที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย มาแต่ช้านาน จนทำให้ "เมืองโพนพิสัย" จังหวัดหนองคาย มีรายได้จากนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลออกพรรษาเป็นเม็ดจำนวนเงินมหาศาล และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนในปัจจุบัน โพนพิสัย ได้ทำให้ เทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกได้สำเร็จ เรียกว่า "เทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาคโลก"  ซึ่งเป็นอับดับหนึ่งของการท่องเที่ยวในภาคอีสานตลอดมายาวนาน

     แต่ ณ ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังจะผลักดันให้ จังหวัดนครพนม - สกลนคร เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวแห่งลุ่มน้ำโขง และ ชู งานประเพณีที่สวยงามนั่นคือ ประเพณีการไหลเรือไฟ ให้เป็น มหกรรมไหลเรือไฟโลก และ ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้งของจังหวัดสกลนครก็เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของทั้ง 2 จังหวัดที่จะเรียกจำนวนนักท่องเที่ยวมาได้ไม่น้อยและตัวเลขเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งสามารถแชร์ตลาดนักท่องเที่ยวจากจังหวัดหนองคายได้มากเลยทีเดียว

     การแข่งขันทางด้านการท่องเที่ยวถือเป็นข้อพิสูจน์ของผู้บริหารในท้องถิ่นเช่นกันว่าจะทำอย่างไร ให้พื้นที่ของตัวเองนั้นสามารถยังคงตรึงนักท่องเที่ยวได้อยู่ต่อไป ซึ่งต้องบอกว่าถือเป็นงานหนักแบบไม่ธรรมดา  อ้างถึงงานวิจัยที่ว่าด้วย "ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสืบสานอย่างยั่งยืน บนฐานชุมชน กรณีศึกษา อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" โดย ดร.จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร จากมหาวิทยาลัยพะเยา สรุปเอาไว้ชัดเจนว่า จังหวัดหนองคายมีความโดดเด่นทางประเพณีและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีข้อได้เปรียบจากทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งจากการวัยพบว่า ศักยภาพการท่องเที่ยวของอำเภอโพนพิสัยในฐานะที่เป็นหนึ่งในอำเภอหลักของจังหวัดหนองคายนั้นมีความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดคือปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคในช่วงวันออกพรรษา ซึ่งเป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ หนองคายและโพนพิสัยยังมีจุดชมวิวริมแม่น้ำโขงที่สวยงาม มีตลาดชุมชนที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ และที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และงานวิจัยยังสรุปเป็นภาพรวมอีกว่าทุกคนเห็นพ้องว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ในระดับประเทศ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความเชื่อและศรัทธาในพญานาคและแม่น้ำโขง โดยความโดดเด่นดังกล่าวนี้ มีศูนย์กลางของกิจกรรมอยู่ที่อำเภอโพนพิสัย  “เพียงแต่วันนี้ทุกคนในพื้นที่ยังคิดเช่นนี้อยู่หรือไม่”

    

ตัวแปรเกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่างๆ หากแต่ถ้ารัฐบาลจะดัน นครพนม - สกลนคร ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวแห่งลุ่มน้ำโขง ก็คงจะไม่ยาก แล้วอนาคตของหนองคาย และ บั้งไฟพญานาคโลกจะเป็นอย่างไร ด้วยข้อได้เปรียบของนครพนม และ สกลนคร มีเรื่องหลักๆ ดังนี้

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากว่า ทั้ง 2 จังหวัดนั้น มีระบบขนส่งที่ได้เปรียบเลยคือ มีสนามบิน ทั้ง 2 จังหวัด มีรถโดยสารประจำทาง การเดินทางภายในพื้นที่มีความสะดวก หากมองดูจังหวัดหนองคายแล้วนั้น ไม่มีสนามบิน ระบบขนส่งยังต้องพึ่งพาจังหวัดข้างเคียง โดยเฉพาะอุดรธานี ที่สามารถลงเครื่องบินและเดินทางมาได้ ทำให้นักท่องเที่ยวมีความคิดที่แตกต่างออกไปหากจะตัดสินใจในการเดินทาง รวมทั้งการเดินทางภายในพื้นที่ของจังหวัดหนองคายยังต้องมีการพัฒนา
  • การตลาดและการสร้างแบรนด์ที่มีความแตกต่างกัน แม้ว่าทั้ง หนองคาย นครพนม และสกลนคร ก็มีจุดขายทางการตลาดแบบเดียวกันก็คือ ความเชื่อความศรัทธา จากองค์พญานาคแต่ ด้วยนครพนมนั้น มีความแข็งแรงจากการสร้างสตอรี่ต่างๆ จนเกิดความน่าสนใจทำให้การตลาดนั้นชัดเจน หากเทียบกับจังหวัดหนองคายนั้นแบรนด์ของพื้นที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด และพื้นที่ไหนในท้องถิ่นที่จะสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง จากงานวิจัยพบว่า แบรนด์ที่แข็งแรงที่สุดนั่นคือ บั้งไฟพญานาคโลก ที่เมืองโพนพิสัย แต่หากภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ยังสับสนว่า บั้งไฟพญานาค นั้นเกิดขึ้นจากที่ใด ซึ่งถือว่าสื่อด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อดิจิทัล ที่จะสร้างความรับรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ นั้นยังเข้าถึงน้อย
  • อีกประการที่อยากจะพูดถึง นั่นคือเรื่องของมุมมองแนวความคิดของผู้บริหารท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. ที่ประชาชนนั้นได้เลือกเข้าไปเพื่อทำงานให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่น ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลตั้งเป้าที่จะผลักดัน นครพนม - สกลนคร ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง ชู ไหลเรือไฟ ให้เป็น มหกรรมไหลเรือไฟโลก ลึกๆ ก็อาจจะเพราะเป็นการยึดฐานเสียงให้คงอยู่ก็อาจจะเป็นได้

    หนองคายต้องอย่าวางมือวางใจ ควรใช้ความเข้มแข็งของชุมชนนำเสนอจุดเด่นของพื้นที่ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างพลังบวกให้กันและกัน เดินหน้าจับมือกันไปด้วยความสามัคคี และไม่ควรที่จะจัดงานซ้ำซ้อนกันในช่วงเทศกาลสำคัญ ต้องช่วยกันหาจุดเด่นของแต่ล่ะพื้นที่เพื่อนำเสนอการท่องเที่ยว ที่หนองคายจะสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เพื่อการที่ยังคงจะต้องยึดอันดับการท่องเที่ยว เทศกาลบั้งไฟพญานาคโลกให้เป็นอันดับหนึ่งหนึ่งของประเทศให้ยาวนานที่สุด 

    สกู๊ปข่าวโดย : ดร.จิรัฏฐวัฒน์  ศิริบุตร 

28 เมษายน 2568

ผู้ชม 65 ครั้ง

Engine by shopup.com